แก้วมังกรแดงอิสราเอล Red Israel Dragon Fruit
แก้วมังกรแดงอิสราเอล Red Israel Dragon Fruit กิ่งพันธุ์แก้วมังกรแดงอิสราเอล พันธุ์แก้วมังกรแดงอิสราเอล หวาน หอม อร่อย
แก้วมังกรแดงอิสราเอล Red Israel Dragon Fruit หวาน หอม อร่อย แก้วมังกรสายพันธุ์นำเข้ามาจากประเทศอิสราเอล แก้วมังกรสายพันธุ์นี้กิ่งใหญ่ หนามคม ลูกโต เปลือกหนา เนื้อสีแดงอมชมพู เนื้อแน่น รสชาติ หอม หวาน อร่อย สามารถนำไปแปรรูปได้ ส่งได้ไกล เสียหายยาก ออกผลดก
จุดเด่น
- เนื้อสีแดงมีสารแอนติออกซิแดนท์ หรือ สารต่อต้านอนุมูลอิสระสีแดงชมพู
- สามารถนำมาผสมอาหาร หรือ ทำขนมได้ เหมาะกับการนำมาแปรรูปได้หลากหลาย
- ผลตอบแทนต่อไร่มากแต่ก็ยังน้อยกว่าขาวเวียดนาม ออกดอกเร็วให้ผลผลิตได้ถึง 8–10 รอบต่อปี เติบโตเร็วคลายพันธุ์เนื้อขาว รสชาติหวานไม่เปรี้ยว เนื้อแน่นกรอบอร่อย
จุดด้อย
- เมื่อทานสีจะติดมือ ติดปาก เปื้อนติดมือหรือเสื้อง่าย
การดูแลรักษาหลังปลูก
แก้วมังกรเป็นพืชพวกกระบองเพชรจำพวกพืชทะเลทราย ทำให้หลายคนเข้าใจว่าไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ หรือเอาใจใส่แต่น้อย ซึ่งเป็นความรู้ความเข้าใจแบบดั้งเดิม และแบบผิดๆ แท้ที่จริงแล้วแก้วมังกรเป็นพืชอวบน้ำ มีชีวิต จึงต้องการการเอาใจใส่ แบบสิ่งมีชีวิต มากหรือน้อยแตกต่างกันไป
- ระยะแรกของการเจริญเติบโต ต้นแก้วมังกรเจริญเติบโตเร็ว หากมีการดูแลเอาใจใส่อย่างดี ยอดสามารถขึ้นบนร้านได้ในเวลา ๓ เดือน อย่างไรก็ตาม หลังวันแรกที่ปลูก ต้องหมั่นตรวจดูตามยอดอ่อนว่ามีมด โดยเฉพาะมดคันไฟ มากัดกินยอดและส่วนอ่อนของต้นหรือไม่ หากมีมด ไม่ว่าชนิดใด ก็ต้องกำจัดและป้องกันโดยใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่เรียกกันทั่วไปว่า ยาฆ่าแมลง โดยเลือกชนิดที่มีอันตรายน้อยที่สุด ใช้ในอัตราที่ต่ำที่สุด และให้เพิ่มประสิทธิภาพของสารกำจัดศัตรูพืช ด้วยการเพิ่มสารลดแรงตึงผิว ซึ่งจะทำให้พิษ ของสารกำจัดศัตรูพืช ซึมเข้าสู่ตัวแมลงได้ง่ายและรวดเร็ว ทั้งนี้จะช่วยประหยัดการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ประหยัดค่าใช้จ่าย และปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องตามหลักวิชาการในการใช้ และคำแนะนำในการปราบศัตรูพืช ก็ย่อมปลอดภัยและเกิดสัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์
- การให้น้ำ การปฏิบัติที่ดีทางการเกษตรได้กำหนดให้น้ำเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาอันดับแรก คุณภาพของน้ำมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปริมาณที่พอดีที่พืชต้องการ ถ้าให้มากเกินควรก็เกิดผลลบ ทั้งสูญเสียน้ำ และอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ แก้วมังกรเป็นพืชพวกกระบองเพชร เป็นสิ่งมีชีวิต จึงต้องการน้ำในการเจริญเติบโต และออกดอกติดผล ฉะนั้นจึงควรรักษาดินให้มีความชื้นสม่ำเสมอ เพื่อการเจริญเติบโตของแก้วมังกร จะได้ไม่หยุดชะงัก เมื่อฝนแล้งหรือในฤดูแล้ง ควรให้น้ำทุกๆ ๓-๗ วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดิน การคลุมดิน อุณหภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อม เมื่อให้ปุ๋ยก็ต้องให้น้ำควบคู่กันไปเสมอ
- การให้ปุ๋ย
๑) ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี การรณรงค์ให้ทำเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก โดยให้ใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสีย ดินแข็ง ข้อจริง คือ ผู้ใช้ปุ๋ยขาดฐานความรู้ความเข้าใจคุณสมบัติของปุ๋ยเคมีแต่ละชนิด รวมทั้งเรื่องการใช้ปุ๋ย และข้อเท็จ คือ ผู้กล่าวเรื่องนี้ ไม่กล่าวให้หมดถ้อยกระทงความ ความจริงแล้ว ปุ๋ยอินทรีย์ก็คือปุ๋ยเคมีกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นชนิดสารเคมีอินทรีย์ (organic chemical) ส่วนปุ๋ยเคมีก็คือ ปุ๋ยเคมีอีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก แต่เป็นชนิดสารเคมีอนินทรีย์ (inorganic chemical) ซึ่งปุ๋ยทั้งคู่เป็นปุ๋ยเคมี เหมือนกัน โดยปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีต่างก็ให้ประโยชน์ในการเกษตรเหมือนกัน แต่ทำหน้าที่ต่างกันบ้าง ปุ๋ยอินทรีย์มีคุณสมบัติ ช่วยทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย คุณสมบัติทางกายภาพและด้านชีวภาพดี แต่มีคุณสมบัติทางเคมีด้านธาตุ อาหารพืชหลักปริมาณไม่มาก มีความหลากหลายของธาตุอาหารรอง และจุลธาตุ ส่วนปุ๋ยเคมีนั้นมีปริมาณธาตุอาหารพืชหลักมาก ส่วนธาตุอาหารจุลธาตุมีจำกัด และมีคุณสมบัติเป็นกรด-ด่าง (เบส) ที่ต้องระวัง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสูตรและชนิดของปุ๋ย ดังนั้น ดินที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติสมดุลทั้ง ๓ ปัจจัย คือ เคมี ชีวภาพ และกายภาพ โดยมีสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด ผู้ใช้ต้องใช้ให้ถูกต้อง โดยปกติปุ๋ยเคมี (อนินทรีย์) มีความเข้มข้นมากกว่าปุ๋ยอินทรีย์ (เคมี) ประมาณ ๒๐-๕๐ เท่า
๒) ปริมาณปุ๋ย หลักการให้ปุ๋ยสำหรับแก้วมังกร ยังไม่พบรายงานวิจัยที่เกี่ยวกับการที่แก้วมังกรต้องใช้ปริมาณธาตุอาหารเท่าใด ในการผลิตราก กิ่ง ลำต้น ดอก และผล ซึ่งสำคัญ เพื่อที่จะนำไปประมาณการในการเติมธาตุอาหารกลับไปให้ต้นแก้วมังกร ดังนั้น คำแนะนำต่อไปนี้ จึงเป็นการประมาณการเบื้องต้น หลังจากปลูกต้นแก้วมังกรได้ประมาณ ๒ สัปดาห์ ผู้ปลูกก็สามารถให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น ๑๖-๑๖-๑๖ หรืออาจใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุไนโตรเจนปริมาณมาก และมีฟอสฟอรัสปริมาณน้อย ใส่หลักละ ๑๕-๒๐ กรัมต่อเดือน เมื่อหมดหน้าฝน และเข้าสู่หน้าแล้ง ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ควรพรวนดินเบาๆ รอบใต้พุ่มต้น และใส่ปุ๋ยหมักหลักละประมาณ ๕ กิโลกรัม และใส่ซ้ำอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เมื่อแก้วมังกรมีอายุมากขึ้น จนอายุครบ ๑ ปี ก็ให้ใส่ปุ๋ยเคมีข้างต้นเพิ่มตามอายุ โดยให้ต่อหลักและต่อเดือน ตามกำหนดดังนี้ อายุ ๑.๐-๑.๕ ปี ให้ปุ๋ย ๓๐-๔๐ กรัม อายุ ๑.๕-๒.๐ ปี ให้ปุ๋ย ๕๐-๖๐ กรัม อายุ ๒.๐-๓.๐ ปี ให้ปุ๋ย ๘๐-๑๐๐ กรัม ทั้งนี้ ให้เพิ่มปริมาณปุ๋ยมากขึ้นตามอายุ โดยเพิ่มประมาณร้อยละ ๒๕ การใส่ปุ๋ยเคมีนี้มีเพดานการใส่อยู่ที่ประมาณ ๒ กิโลกรัม ต่อหลักต่อปี ขึ้นอยู่กับสถานภาพของต้นแก้วมังกร และปริมาณผลผลิตต่อหลัก ให้หว่านเม็ดปุ๋ยที่บริเวณปลายราก ซึ่งทำหน้าที่ดูดน้ำ และธาตุอาหารด้วย โดยอยู่รอบๆ ชายพุ่มต้นแก้วมังกร หน้าดินที่จะหว่านเม็ดปุ๋ยนี้ ควรเปิดหน้าดินเล็กน้อย ด้วยการพรวนเบาๆ และไม่ต้องลึก ระวังไม่ให้รากเสียหาย เพราะระบบรากของต้นแก้วมังกรอยู่ตื้นมาก
๓) ปุ๋ยในช่วงออกดอกและติดผล ให้เปลี่ยนสูตรปุ๋ยจากสูตรเสมอเป็นสูตรที่มีโพแทสเซียมมาก คือ ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร ๑๓-๑๓-๒๑ ซึ่งเชื่อกันว่า ช่วยให้ผลแก้วมังกร มีรสชาติหวานมากขึ้น ทั้งนี้ ควรให้ก่อนออกดอกประมาณ ๑-๒ เดือน สวนบางแห่งพบผลแก้วมังกรมีอาการผิดปกติ คือ เมื่อผ่าผล จะพบเมล็ดกระจุกตัวตรงศูนย์กลางของผล ไม่ได้กระจายตัวเหมือนผลแก้วมังกรทั่วไป ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ ยังไม่พบรายงาน การศึกษาวิจัย แต่ผู้ปลูกแก้วมังกรก็ได้พยายามช่วยกันแก้ปัญหา ด้วยการให้ธาตุแคลเซียมเพิ่มเติม โดยวิธีพ่นสารละลายแคลเซียมโบรอนในอัตราตามคำแนะนำในฉลาก ในกรณีที่แก้วมังกรให้ผลดกควรพิจารณาใส่ปุ๋ยเพิ่มเป็นพิเศษ อาจใส่ในปริมาณเพิ่มกว่าปกติร้อยละ ๒๕-๕๐ โดยต้องมีการบำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงก่อนออกดอกเสมอ เนื่องจากปุ๋ยเคมีมีราคาแพงมากขึ้นแตกต่างจากปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งราคาไม่แพงมาก แต่มีสิ่งอื่นที่ต้องใคร่ครวญ ดังนั้น ต้องเปรียบเทียบปุ๋ยทั้ง ๒ ชนิด ให้ละเอียดรอบคอบและถี่ถ้วน โดยต้องคำนึงถึงผลิตผลที่ได้ต่อการลงทุนต่อหน่วยการผลิต ทั้งนี้ ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทดลอง โดยไม่ลืมคิดคำนวณค่าขนส่งและค่าแรงงาน
๔) ความสมดุลในการให้ปุ๋ย ปุ๋ยทุกชนิดมีราคาแพง ดังนั้น การให้ปุ๋ยในปริมาณมากหรือน้อยไป หรืออัตราส่วนของธาตุอาหารผิดเพี้ยนไปก็ไม่เกิดผลดี ด้วยประการทั้งปวง การศึกษาคุณสมบัติของดินจากการวิเคราะห์ตัวอย่างดิน และการวิเคราะห์ตัวอย่างพืชที่มีสภาวะปกติมาตรฐาน แล้วนำมาประมวลหาธาตุอาหารที่พืชเอาไปใช้ การพิจารณาให้ปุ๋ยชดเชยปริมาณที่เสียไปจากทุกปัจจัยให้ครบถ้วน ทำให้เกิดความสมดุลของปัจจัยการผลิตกับผลิตผล ส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิต และไม่ฟุ่มเฟือยในการใช้ปัจจัยการผลิต ให้สูญเปล่า
๕) การให้ปุ๋ยทางน้ำ เป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลดี เพราะประหยัดทั้งน้ำ ปุ๋ย และแรงงาน เป็นประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณา ศึกษา และพัฒนา เพื่อใช้กับแก้วมังกรและพืชชนิดอื่นต่อไป โดยอาศัยข้อมูลของความสมดุลในการให้ปุ๋ย ทั้งนี้ รัฐต้องเป็นผู้นำดำเนินการสาธิต ให้ถึงแก่น ซึ่งวิธีการให้ปุ๋ย ณ ปัจจุบัน และเรื่องทุพโภชนาการ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย มีประสิทธิภาพน้อย เป็นปัญหาก่อให้ “โลกร้อนขึ้น” (global warming) ไม่ใช่ “สภาวะโลกร้อน” ธรรมดา ตามที่เขียน เป็นตัวหนังสือหรือพูดกันทั่วประเทศ
4. ศัตรูของแก้วมังกร และการป้องกันกำจัด บรรดาสรรพสิ่งที่มีชีวิตย่อมมีศัตรูคู่อาฆาตเสมอ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการพลังงาน (อาหาร) เพื่อการอยู่รอดของตน ไม่ว่าจะเป็นรา แบคทีเรีย ทั้งที่เป็นมิตรหรือศัตรูของคนหรือตัวสัตว์ใดๆ